กัญชาในอาหาร กินแล้วจะเมาไหม กินได้แค่ไหนไม่อันตรายต่อสุขภาพ

กัญชา หลังถูกปลดล็อกบางส่วนก็มีอาหารใส่กัญชาออกมาหลายเมนู และเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เอ๊ะ…กินเมนูกัญชาแบบนี้จะเมาไหมนะ

กัญชาเป็นสมุนไพรที่เราเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก อย่างตอนนี้ก็มีเมนูอาหารกัญชา และเครื่องดื่มผสมกัญชา ออกวางจำหน่ายในหลาย ๆ ร้าน ทำให้คนอยากลองกินอาหารใส่กัญชาดูสักที แต่เห็นรีวิวบางคนบอกว่ามึน ๆ บ้างแหละ แต่บางคนก็บอกว่าไม่ได้ส่งผลอะไรขนาดนั้นนะ เอาล่ะสิ…ตกลงเมนูกัญชากินแล้วจะเมาไหม ลองมาไขข้อสงสัยกันเลยกัญชาในเมนูอาหาร ส่วนไหนกินได้-ไม่ได้

             ต้องอธิบายก่อนว่า กัญชาที่นำมาประกอบอาหารได้อย่างถูกกฎหมายคือ ใบกัญชาสด เช่น ใบกัญชาอ่อน หรือใบเพสลาด (ไม่อ่อนไม่แก่) ซึ่งในใบกัญชาสดจะมีสาร Canabidiol (CBD) และ Tetrahydrocannabinolic acid หรือ THCA ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ไม่มีสารเมา) แต่ THCA สามารถเปลี่ยนเป็นสาร THC หรือสารเมาได้ ด้วยกระบวนการต่าง ๆ เช่น ถูกแสงแดด สภาพอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้น หรือการนำไปตากแห้ง เป็นต้น  

             อย่างไรก็ตาม เมื่อสาร THCA ถูกเปลี่ยนเป็น THC แล้วยังคงมีปริมาณ THC ไม่มากนัก จึงได้รับอนุญาตให้นำมาปรุงอาหารได้ โดยต้องซื้อจากแหล่งปลูกและแหล่งจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจาก อย. ด้วยนะคะ ไม่สามารถปลูกกัญชาเพื่อนำไปปรุงอาหารเองได้ ส่วนช่อดอกกัญชา รวมไปถึงเมล็ดกัญชาที่มีสารเมา THC ค่อนข้างสูง ยังคงถือว่าเป็นยาเสพติด ไม่สามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างเสรีใส่กัญชาในอาหาร ชูรสอร่อยเพิ่มขึ้นได้จริงไหม

เมนูกัญชา

ภาพจาก AChanFoto / Shutterstock.com

          คงเคยได้ยินกันมาว่า กัญชาทำให้อาหารอร่อยขึ้นได้ และคำกล่าวนี้ก็ไม่เกินจริงไปเท่าไรค่ะ เพราะในใบกัญชามีกรดกลูตามิก (Glutamic acid) ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารได้ รวมทั้งสาร THC ที่จะเพิ่มกลิ่นหอมของอาหาร เมื่อกินไปแล้วจึงรู้สึกติดใจอยากกินอาหารมากขึ้น โดยตำรับยาหมอพื้นบ้านก็มีบันทึกไว้ว่า การใช้ใบกัญชาปรุงอาหารให้คนไข้ที่มีอาการเบื่ออาหาร ทำให้เจริญอาหารและกินข้าวได้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

          ทั้งนี้ ใบกัญชาจะมีรสชาติคล้ายผักทั่วไป นิยมใส่ในอาหารประเภทต้ม น้ำแกง น้ำก๋วยเตี๋ยว ผัด หรือในปัจจุบันเราจะเห็นเมนูกัญชาในเครื่องดื่ม ขนมหวาน เบเกอรี่ หรือในอาหารประเภทชุบแป้งทอดมากขึ้นกินเมนูกัญชาจะเมาไหม

          กรณีกินใบกัญชาสด ไม่ผ่านความร้อน จะไม่น่ากังวลเท่าไร เนื่องจากไม่ค่อยมีสารเมา เราจึงสามารถกินแบบผักสด เช่น ผักเคียง สลัด นำใบสดมาตกแต่งบนจานอาหาร จิ้มกับน้ำพริก คั้นเป็นเครื่องดื่ม หรือดื่มน้ำปั่นที่มีส่วนผสมของใบกัญชาสดได้อย่างปลอดภัย

          แต่หากนำใบกัญชาสดไปปรุงอาหารที่ผ่านความร้อนนาน ๆ เช่น ต้ม ทอด ต้องระวังสาร THCA จะถูกเปลี่ยนเป็น THC ส่งผลให้ได้รับสารเมาในปริมาณมากขึ้นได้ โดยปัจจัยที่สาร THC จะเพิ่มขึ้นก็คือ ระยะเวลาที่ปรุง ยิ่งปรุงนาน ยิ่งมีสารมากขึ้น รวมทั้งการปรุงด้วยความร้อนและไขมัน อย่างการนำกัญชาไปผัดน้ำมันหรือทอด จะทำให้สาร THC ซึ่งละลายในไขมันได้ดี จึงถูกสกัดออกมามากขึ้น

          ดังนั้น ถ้าจะรับประทานเมนูกัญชาที่ผ่านความร้อนต้องจำกัดปริมาณ คือไม่ควรกินใบกัญชาทั้งใบ เกิน 5-8 ใบต่อวัน ซึ่งโดยทั่วไปในเมนูต้มจะใส่ใบกัญชาประมาณ 1-3 ใบ ต่อแกง 1 หม้อ สำหรับรับประทานทั้งครอบครัว เราอาจจะเลือกกินแต่น้ำ ไม่กินใบก็ได้ หากต้องการชิมเมนูกัญชาหลายเมนู เพื่อไม่ให้สารเมาสะสมในร่างกายจนถึงจุดที่เกิดอาการเมาได้

          นอกจากนี้ ยังต้องระวังการกินใบแห้งของกัญชาเช่นกัน เพราะใบแห้งผ่านความร้อนมาแล้ว จึงมีสาร THC อยู่ในตัว ประมาณ 1-2 มิลลิกรัมต่อใบ หากนำมาปรุงอาหารด้วยการใช้ความร้อนหรือไขมันอีก ปริมาณสาร THC จะยิ่งสูงขึ้นด้วยกินใบกัญชาในอาหาร จะมีผลข้างเคียงอื่น ๆ หรือไม่

เมนูกัญชา

          ในบางคนอาจเกิดอาการข้างเคียงเมื่อกินใบกัญชา เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน รู้สึกมึนงง ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว เนื่องจากใบกัญชาที่กินอาจมีสาร THC มากเกินไป ไม่ว่าจะเกิดจากการรับประทานเกินปริมาณที่แนะนำ การกินผิดวิธี หรือร่างกายไวต่อสารต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าคนอื่น โดยอาการเหล่านี้จะเริ่มแสดงผลหลังรับประทาน 30-60 นาที และจะแสดงอาการเด่นชัดที่เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง-3 ชั่วโมง หลังรับประทาน

          เพราะฉะนั้น หากเพิ่งเริ่มต้นกินกัญชาหรือกินครั้งแรก ก็ไม่ควรกินปริมาณมากเกินไป และเมื่อกินแล้วให้รอดูผลหลังรับประทานภายใน 2 ชั่วโมง ถ้ามีอาการปากแห้ง คอแห้ง ให้ดื่มน้ำเข้าไปมาก ๆ หรือกรณีมีอาการมึนเมา ให้ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือดื่มชารางจืด เพื่อบรรเทาอาการวิธีกินกัญชาในอาหารให้ปลอดภัย
สรุปแล้วควรกินแบบไหน          กัญชาถือเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งซึ่งมีไฟเบอร์และสารต้านอนุมูลอิสระในตัว ซึ่งถ้าเรากินอย่างถูกวิธีก็จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยแนะนำให้กินเมนูกัญชาตามนี้

1. เลือกกินใบสด เช่น กินเป็นผักสด ยำ หรือนำไปคั้นน้ำดื่ม น้ำปั่น
2. ควรกินเมนูกัญชาที่ไม่ได้ผ่านความร้อนนาน ๆ เช่น ผัดกะเพรา เพื่อที่ร่างกายจะได้ไม่รับสาร THC มากเกินไป
3. หากกินเมนูต้ม ตุ๋น แกงต่าง ๆ ควรกินแต่น้ำ ไม่กินใบที่ใส่ลงไปข้อควรระวังก่อนกินเมนูกัญชา

          ขอย้ำกันอีกครั้งว่าถ้าอยากกินเมนูกัญชาอย่างเอร็ดอร่อย ปลอดภัย ไม่เมา และไม่ผิดกฎหมาย ควรต้องเช็กลิสต์ข้อควรระวังตามนี้ด้วย

          * กินเมนูกัญชาจากร้านที่ซื้อใบกัญชาจากแหล่งปลูกและแหล่งจัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว

          * กินเมนูกัญชาในปริมาณน้อย หากเพิ่งเริ่มกินควรกินแค่ครึ่งใบ-1ใบต่อวันก่อน เพราะแต่ละคนจะมีความไวต่อฤทธิ์ของกัญชาแตกต่างกัน

          * ไม่ควรกินกัญชาหลายเมนูในมื้อเดียว เพราะอาจได้รับสารเมาสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป

          * ไม่ควรกินใบกัญชาแบบทั้งใบหรือใบที่ผ่านความร้อนแล้ว เกิน 5-8 ใบต่อวัน เพราะหากกินในปริมาณมาก อาจมีอาการผิดปกติ เช่น กินอาหารได้มาก พูดมาก หัวเราะร่วน หิวของหวาน คอแห้ง และตาหวานได้

          * ระวังการกินเมนูกัญชาที่ผ่านความร้อน และการกินกัญชาร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง เพราะความร้อนและไขมันจะสกัดสาร THC ออกจากกัญชาได้มากขึ้น จึงไม่ควรกินมากเกินไป

          * ไม่ควรกินใบกัญชาแก่ หรือใบกัญชาตากแห้ง เพราะมีสาร THC มากกว่าใบกัญชาสด

          * ไม่กินใบกัญชาร่วมกับแอลกอฮอล์

          * ควรจำกัดการกินใบกัญชากับคนบางกลุ่ม เพราะอาจได้รับผลกระทบมากกว่าประโยชน์ต่อสุขภาพใครบ้างต้องระวังในการกินเมนูกัญชา

เมนูกัญชา

          การกินเมนูกัญชาอาจส่งผลต่อสุขภาพในคนบางกลุ่ม ดังนี้

          1. เด็ก เยาวชน ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี อาจเกิดภาวะเสพติดขึ้นมาได้

          2. ผู้สูงอายุ

          3. หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร รวมทั้งผู้หญิงที่วางแผนกำลังจะมีบุตร

          4. ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ที่ตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

          5. ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน หรือยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ เพราะกัญชาจะไปเพิ่มขนาดยาวาร์ฟารินจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย

          6. ผู้ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยารักษาอาการจิตเวช

          แม้การรับประทานกัญชาเป็นอาหารจะมีข้อควรระวังอยู่บ้าง แต่ในทางการแพทย์กัญชายังมีประโยชน์อยู่มาก โดยเฉพาะกับการเลือกใช้สารสกัดกัญชาในปริมาณความเข้มข้นที่เหมาะสมและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเฟซบุ๊กสมุนไพรอภัยภูเบศรThai PBS (1)(2)ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุขเฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศรศูนย์นวัตกรรมการแพทย์แผนไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า