ผักกะแยง คือผักอะไร รู้จักผักแขยง กลิ่นหอมฉุน สรรพคุณไม่ธรรมดา

ผักกะแยง หรือผักแขยง และอีกหลาย ๆ ชื่อเรียกตามท้องถิ่น หากได้กลิ่นอาจร้องอ๋อ เพราะอยู่ในหลายเมนูที่คุ้นเคย

  ผักกะแยง บางคนอาจไม่คุ้นชื่อนี้นัก แต่ถ้าเรียกผักแขยง ผักพา หรือผักกะออม คงกระจ่างขึ้นมาในทันที เพราะผักชนิดนี้อยู่ใกล้ตัวเรามาก โดยเฉพาะในเมนูอาหารอีสานหรืออาหารเหนือเมนูดัง ๆ และวันนี้เราจะพาไปรู้จักผักกะแยง ประโยชน์ดีอย่างไร มีสรรพคุณอะไรที่น่าสนใจบ้าง แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักผักกะแยงให้มากขึ้นอีกหน่อยดีกว่าผักกะแยง คือผักอะไร

ผักกะแยง

          ผักกะแยง มีถิ่นกำเนิดในหลายประเทศ เช่น ไทย ลาว กัมพูชา จีนตอนใต้ ภูฏาน เวียดนาม ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ อินเดีย และยังพบว่ามีการกระจายพันธุ์ไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รวมถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลียอีกด้วย ส่วนในไทยจะพบผักกะแยงได้ทุกภาค แต่จะพบมากในภาคอีสานและภาคเหนือ

          ผักกะแยงเป็นผักที่พบได้ตามบริเวณชื้นแฉะ ริมคันนา จึงถูกจัดให้เป็นวัชพืชในนาข้าว โดยผักกะแยงยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ตามภูมิภาคด้วย เช่น ภาคอีสานเรียกกะออม อีออม ภาคเหนือเรียกผักพา ส่วนภาคกลางเรียกผักแขยง และยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อาทิ ผักคะแยง ผักลืมผัว ผักควันเข้าตา ผักอีผวยผาย หรือในชื่อจีนแต้จิ๋วว่า จุ้ยหู่โย้ง และจีนกลางเรียกสุ่ยฝูโหยง ส่วนภาษาอังกฤษผักกะแยง คือ Rice Paddy Herb

          ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ของผักกะแยง คือ Limnophila aromatica (Lam.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE) ผักชนิดนี้จำแนกตามหลักทางพฤกษศาสตร์ได้ 2 ชนิดด้วยกัน คือ Limnophila aromatica (Lam.) Merr. และ Limnophila geoffrayi Bonati. ซึ่งเป็นชนิดต้นเล็กที่พบได้มากทางภาคอีสานผักกะแยง ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นอย่างไร

          ผักกะแยง ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Limnophila geoffrayi Bonati ซึ่งพบในภาคอีสาน เป็นพืชล้มลุกเนื้ออ่อน ช่วงอายุสั้นเพียงปีเดียว มีความสูงประมาณ 10-35 เซนติเมตร ลำต้นเรียวยาว ตั้งตรง อวบน้ำ แต่ข้างในลำต้นจะกลวง รอบ ๆ ลำต้นมีขนหนาแน่น ใบกะแยงเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ตรงข้ามตามข้อปล้องของลำต้น หรืออาจมี 3 ใบก็ได้ รูปทรงของใบเป็นแบบใบรีรูปขอบขนาน มีสีเขียว ตรงใบมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ใบยาว 1.5-5 เซนติเมตร กว้าง 1-2 เซนติเมตร ฐานใบหุ้มลำต้น ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ไม่มีก้านใบ ด้านบนของใบมีตุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นต่อมน้ำมันอยู่มาก จึงทำให้ผักกะแยงส่งกลิ่นหอมฉุนไปทั้งต้น

          ส่วนดอกกะแยงจะออกเป็นดอกเดี่ยวหรืออาจจะแทงเป็นช่อบริเวณซอกใบ โดยในแต่ละดอกจะมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นสีเขียวมีขน ลักษณะดอกเป็นรูปกรวยกลีบดอกสีแดงสีชมพูอ่อน หรือสีม่วงยาว 0.3 เซนติเมตร และแยกออกเป็น 5 กลีบ ก้านดอกยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีขนมากและมีก้านเกสรตัวผู้สีขาว 4 อัน ผลมีลักษณะรียาว ปลายผลเรียวแหลม ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ผลออกเป็นฝักยาวรี ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลแก่มีสีน้ำตาล และหากผลแก่เต็มที่จะปริแตกออกเป็น 4 แฉก โดยด้านในมีเมล็ดรูปทรงกลมสีน้ำตาลอมดำขนาดเล็กจำนวนมากผักกะแยง คุณค่าทางโภชนาการน่าสนใจ

ผักกะแยง

          กองโภชนาการ กรมอนามัย แสดงข้อมูลโภชนาการในส่วนที่กินได้ของผักกะแยง จังหวัดอุบลราชธานี ปริมาณ 100 กรัม ดังนี้

          – พลังงาน 38 กิโลแคลอรี

          – น้ำ 89.8 กรัม

          – โปรตีน 1.5 กรัม

          – ไขมัน 0.3 กรัม

          – คาร์โบโฮเดรต 7.4 กรัม

          – ไฟเบอร์ 1.5 กรัม

          – เถ้า 1.0 กรัม

          – แคลเซียม 55 มิลลิกรัม

          – ฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม

          – ธาตุเหล็ก 5.2 มิลลิกรัม

          – วิตามินเอ 586 ไมโครกรัม

          – ไทอะมิน 0.02 มิลลิกรัม

          – ไรโบฟลาวิน 0.87 มิลลิกรัม

          – ไนอะซิน 0.6 มิลลิกรัม

          – วิตามินซี 5 มิลลิกรัม

          อย่างไรก็ตาม ผักกะแยงในแต่ละพื้นที่อาจจะให้คุณค่าทางโภชนาการที่ต่างกันเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับคุณภาพดิน น้ำ และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่ผักกะแยงเติบโตผักกะแยง ประโยชน์ดีต่อสุขภาพอย่างไร          ผักกะแยงมีสารสำคัญอยู่หลายชนิด เช่น Stigmasterol, β-sitosterol, Isothymusin, Nevadensin, Salvigenin, Chlorogenic acid, Caffeic acid  และในส่วนของต้นและใบของผักกะแยงยังมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 0.13% ประกอบไปด้วยสาร d-limonene และ d-perillaldehyde ซึ่งส่งผลให้ผักกะแยงมีประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพตามนี้เลย

1. อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

          ผักกะแยงหรือผักแขนงมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยต้านไวรัส แบคทีเรีย และต้านการเจริญของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้

2. ต้านมะเร็ง

          นอกจากผักกะแยงจะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงแล้ว การศึกษาทางเภสัชวิทยายังพบว่า น้ำมันหอมระเหยในผักกะแยงมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเซลล์มะเร็งเต้านม

3. ระงับประสาท ลดการอักเสบ และขยายหลอดเลือด

          การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักกะแยงและน้ำมันหอมระเหยในผักกะแยง พบว่า ผักกะแยงมีฤทธ์ระงับประสาท กระตุ้นระบบประสาท ขยายหลอดเลือด และลดอาการอักเสบได้ผักกะแยง สรรพคุณทางยามีอะไรบ้าง

ผักกะแยง

          นอกจากประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของผักกะแยงและน้ำมันหอมระเหยในผักกะแยงแล้ว ในตำรับยาพื้นบ้านยังพบสรรพคุณผักกะแยง ดังนี้

          1. ช่วยขับลม ระบายท้อง โดยตำรับยาพื้นบ้านอีสานใช้ต้นผักกะแยงทั้งต้นคั้นน้ำเป็นยาขับลม

          2. แก้ไข้ โดยใช้น้ำคั้นจากต้นสด 15-30 กรัม มาต้มน้ำดื่ม

          3. ช่วยเจริญอาหาร ลดอาการเบื่ออาหาร เพราะผักกะแยงมีกลิ่นหอมฉุนและมีรสเผ็ดร้อน

          4. แก้คัน แก้ฝี และกลาก โดยนำต้นสดประมาณ 15 กรัม ต้มกับน้ำแล้วใช้อาบ หรือนำมาทาถู หรือตำแล้วพอกรอบ ๆ แผลที่เป็น

          5. หมอยาพื้นบ้านแนะนำให้กินผักกะแยงเพื่อป้องกันเส้นเลือดตีบตันและไข้ร้อนใน

          6. ใช้ทั้งต้นเป็นยาระบายอ่อน ๆ

          7. ใช้ทั้งต้นตำแล้วพอกลดอาการบวม

          8. แก้พิษงูที่พิษไม่ร้ายแรง โดยใช้ต้นสด ๆ ประมาณ 15 กรัม ตำให้ละเอียด แล้วผสมกับต้นฟ้าทะลายโจรสด ประมาณ 30 กรัม เติมน้ำส้มสายชูในปริมาณพอสมควร แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม ส่วนกากที่เหลือให้พอกบริเวณรอบ ๆ บาดแผล ห้ามพอกบนบาดแผลโดยตรงเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ

          9. แก้พิษเบื่อเมา โดยใช้ต้นแห้งทั้งต้นที่เก็บไว้นาน 1 ปี มาต้มกับน้ำแล้วดื่ม

          10. ทางตำรับยาพื้นบ้านภาคอีสานจะใช้ผักกะแยงทั้งต้นช่วยขับน้ำนมของคุณแม่ที่คลอดลูกมาสักพักแล้ว หรือใช้แก้น้ำนมแม่ที่มีรสเปรี้ยว แต่จะไม่ใช้กับคุณแม่หลังคลอดใหม่ ๆ เพราะกลิ่นผักกะแยงอาจทำให้เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียนได้

         11. ใช้ลำต้น และใบสดมาขยำ ดมแก้วิงเวียนศีรษะผักกะแยง ประโยชน์อื่น ๆ ก็มีนะ

          ประโยชน์ของผักกะแยงหรือผักแขยงในด้านอื่น ๆ ก็มีดังนี้

          1. ใช้ดับกลิ่นคาวอาหาร ทั้งใส่ปรุงเมนูอาหารหรือกินเป็นผักแกล้มกับเมนูอาหารคาวกลิ่นแรงอย่างลาบดิบ หลู้ ก้อย แกงอ่อม เป็นต้น

          2. รับประทานสด ๆ จะช่วยดับกลิ่นตัวได้

          3. น้ำมันหอมระเหยจากผักกะแยงสามารถใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อต้านจุลินทรีย์ และกลิ่นฉุนเฉพาะตัวของผักกะแยงยังใช้เป็นยาฆ่าแมลงในกลุ่มที่ทำลายผลไม้ รวมถึงใช้ไล่แมลงได้อีกด้วย

          4. มีงานวิจัยที่พบว่า น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากผักกะแยงมีกลิ่นคล้ายกับน้ำมันสน และสารสกัดด้วยไอน้ำจากผักกะแยงยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่ออาการอาหารเป็นพิษที่มักปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหาร นม รวมถึงเนื้อสัตว์และไข่ไก่ได้เมนูผักกะแยง ทำอะไรกินได้บ้าง

          ด้วยความที่ผักกะแยงมีกลิ่นหอมฉุนเฉพาะตัว จึงมักจะถูกเก็บมาปรุงอาหารในหลายเมนู เช่น เมนูต้มส้ม แกงหน่อไม้ แกงอ่อมต่าง ๆ เช่น แกงอ่อมกบ อ่อมเขียด อ่อมหอย อ่อมปลา อ่อมเนื้อวัว หรืออาหารที่มีกลิ่นคาวชนิดอื่น ๆ เช่น ลาบดิบ หลู้เลือด เป็นต้น

          นอกจากนี้ยังมีการนำยอดอ่อน ใบอ่อนไปกินเป็นผักสดแกล้มเมนูลาบ ก้อย แจ่ว น้ำพริก ส้มตำ หรือซุบหน่อไม้ เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมฉุนและลดกลิ่นคาวของอาหารด้วยผักกะแยง ก็มีข้อควรระวังเหมือนกัน

          การใช้ผักกะแยงเป็นอาหารหรือสมุนไพรก็มีข้อควรระวัง เช่น

          * สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าอาจทำให้เกิดอาการผิดสำแดงขึ้นมาได้

          * สตรีหลังคลอดควรระวังการกินผักกะแยงสด ๆ เพราะอาจเกิดอาการแพ้ เวียนหัว คลื่นไส้ และอาเจียน

          * ผักกะแยงมีสารแคลเซียมออกซาเลต (Oxalate) สูง จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะสารนี้อาจสะสมในอวัยวะต่าง ๆ และเพิ่มความเสี่ยงเป็นนิ่วได้ โดยเฉพาะในไต หรือกระเพาะปัสสาวะ

          อย่างไรก็ตาม ภูมิปัญญาพื้นบ้านทางภาคอีสานก็มีความเชื่อว่า การนำผักกะแยงไปประกอบอาหารที่มีรสเปรี้ยวจะช่วยลดความเสี่ยงที่สารแคลเซียมออกซาเลตจะสะสมในร่างกาย เพราะสารที่ให้รสเปรี้ยวจะช่วยละลายสารแคลเซียมออกซาเลตได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรกินผักกะแยงมากเกินพอดี เพราะอาจทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่หลากหลาย ดังนั้นพยายามกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่พอเหมาะจะดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดสุรินทร์DISTHAIกองโภชนาการ กรมอนามัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า