11 สัญญาณอันตราย ”แพ้คาเฟอีน” สาเหตุและวิธีรักษา

แพ้คาเฟอีน อาจเกิดขึ้นได้ในบางคน ซึ่งส่งผลทำให้มีอาการคัน บวม ผิวแดง หายใจลำบาก ใจสั่นมากกว่าปกติ การแพ้คาเฟอีนอาจมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านคาเฟอีนเหมือนกับการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ พันธุกรรม รวมถึงสารก่อภูมิแพ้หรือเชื้อราบางชนิดในเมล็ดกาแฟ ดังนั้น ผู้ที่แพ้คาเฟอีนควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้

อาการ “แพ้คาเฟอีน” คืออะไร

แพ้คาเฟอีน คือ อาการแพ้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านคาเฟอีนเหมือนกับการต่อต้านเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น การอักเสบ อาการคัน บวม ผิวแดง หายใจลำบาก ในบางคนอาการแพ้คาเฟอีนอาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนกระทบต่อกระบวนการทำงานของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้

สาเหตุของการแพ้คาเฟอีน

โดยปกติเมื่อบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน คาเฟอีนจะถูกดูดซึมภายในลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นฤทธิ์ของคาเฟอีนจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย อาจทำให้มีอาการนอนไม่หลับ ตื่นตัว กระสับกระส่าย เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ซึ่งจะแตกต่างกับอาการแพ้คาเฟอีน เพราะร่างกายของผู้ที่แพ้คาเฟอีนจะต่อต้านคาเฟอีนเช่นเดียวกับการต่อต้านเชื้อโรค โดยระบบภูมิคุ้มกันจะผลิตแอนติบอดี (Antibody) อย่างอิมมูโนโกลบิน อี (Immunoglobulin E หรือ lgE) ที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย และเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์ปล่อยฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยต้านอาการแพ้ เช่น การอักเสบ ลมพิษ อาการคัน บวม

สาเหตุของการแพ้คาเฟอีนอาจยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากสาเหตุบางประการ เช่น

  • การสืบทอดทางพันธุกรรม
  • กรรมวิธีการผลิต การคั่วและฝุ่น ที่มากับเมล็ดกาแฟอาจเป็นสารก่อภูมิแพ้
  • การปนเปื้อนของเชื้อรากลุ่มแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) และเพนนิซิเลียม (Penicillium) ที่ทนทานความร้อนในกระบวนการคั่ว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้

สัญญาณอันตราย อาการแพ้คาเฟอีน

อาการแพ้คาเฟอีนมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ โดยอาจแสดงอาการ ดังนี้

  1. ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล
  2. หายใจมีเสียงหวีด
  3. ตาแดง คันตา น้ำตาไหล
  4. ลมพิษ ผื่นแดง คัน
  5. ริมฝีปากและลิ้นบวม คันปาก ริมฝีปากและลิ้น
  6. อาการหอบหืด โรคผิวหนังอักเสบ
  7. ตา ริมฝีปาก ใบหน้า และลิ้นบวมอย่างรุนแรง
  8. หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังหวีด มีปัญหาในการพูด
  9. ไอ คลื่นไส้ ปวดท้อง หรืออาเจียน
  10. วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
  11. ช็อก หมดสติ หรือเสียชีวิต

การรักษาอาการแพ้คาเฟอีน

การแพ้คาเฟอีนอาจรักษาได้หลายวิธี ดังนี้

หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันอาการแพ้ โดยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง ยาบางชนิด เช่น ยาบรรเทาอาการปวดไมเกรน (Excedrin Migraine)

รับประทานยาภูมิแพ้ เมื่อสังเกตเห็นอาการแพ้ โดยยาแก้แพ้อาจมีดังนี้

  • ยาแก้แพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ไฮดรอไซซีน (Hydroxyzine) สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ไม่รุนแรง
  • ยาใช้เพื่อลดอาการคัดจมูก เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ยาหดหลอดเลือด (Decongestant)
  • ยาสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เบตาเมทาโซน ไดโพรพิโอเนต (Betamethasone Dipropionate) โคลเบทาซอล (Clobetasol) สามารถช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากอาการแพ้ บรรเทาลมพิษ โรคหอบหืด
  • ยาเฉพาะที่อย่างโลชั่นและครีม เช่น คาลาไมน์ อีโมลเลียนต์ (Emollients) เพื่อให้ความชุ่มชื้นกับผิว ลดอาการผิวแดง คัน ลดการอักเสบ

ภูมิคุ้มกันบำบัด (Desensitization) ใช้รักษาอาการแพ้อย่างรุนแรงและเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ โดยผู้ป่วยจะได้รับสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณเล็กน้อยเป็นครั้งคราวผ่านการฉีด ยาหยอด หรือยาเม็ด เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวกับสารก่อภูมิแพ้ได้เอง การรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมของคุณหมอ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรงได้

ขอขอบคุณ

ภาพ :iStock

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า