แม่ให้นม-คนท้องกินกัญชาได้ไหม ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพแม่และลูก

คนท้องกินกัญชาได้ไหม ท่ามกลางกระแสปลดล็อกกัญชา หลายคนคงมีคำถามว่า กัญชากับคนท้อง กินแล้วมีอันตรายหรือผลเสียอย่างไรบ้าง รวมถึงแม่ให้นมกินกัญชาได้หรือเปล่า มาหาคำตอบไปพร้อมกัน

กัญชา

          ประเด็นฮอตในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการปลดล็อกกัญชาในประเทศไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยพืชกัญชา-กัญชงไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป และอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากกัญชาได้ รวมถึงร้านอาหาร เครื่องดื่ม ต่างก็นำเสนอเมนูที่มีส่วนผสมของใบกัญชาให้แก่นักชิมสายเขียว แต่ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขห้ามจำหน่ายกัญชาให้แก่กลุ่มสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้มีอายุน้อยกว่า 20 ปี เพราะอาจส่งผลร้ายมากกว่าที่คิด แล้วอย่างนี้ แม่ให้นม คนท้องกินกัญชาได้ไหม มีอันตรายอย่างไรต่อการตั้งครรภ์และให้นมบุตรบ้าง เรามีข้อมูลมาฝากกัน

กัญชา คืออะไร ออกฤทธิ์แบบไหนบ้าง

          กัญชา เป็นพืชที่มีสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ Tetrahydrocannabinol (THC) มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา เคลิบเคลิ้ม โดยแต่ละส่วนของกัญชาจะมีความเข้มข้นของสาร THC ต่างกัน และ Cannabidiol (CBD) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์อันดับ 2 ไม่ได้ทำให้เมา ทั้งยังมีส่วนช่วยเยียวยาปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย ซึ่งขณะนี้กฎหมายอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ปรุงอาหารได้ เฉพาะส่วนเปลือก ลำต้น เส้นใย ใบ กิ่งก้าน และราก ที่มี THC น้อย ห้ามนำส่วนช่อดอกที่มี THC มากมาใส่อาหาร อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของใบกัญชาตามที่กฎหมายอนุญาต แต่ในการกินก็ต้องระวัง เพราะการใส่ใบปริมาณมากอาจทำให้สารเมาสะสมเพิ่มขึ้นได้
 

          อีกประการหนึ่ง กลุ่มคนที่มีความเปราะบางหรืออ่อนไหวกับสารต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่าถ้าใช้ปริมาณใบกัญชาที่เท่า ๆ กับคนทั่วไป อาจจะได้รับฤทธิ์เมามากกว่าคนอื่น โดยกลุ่มที่ควรระมัดระวังคือ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กและเยาวชน และผู้สูงอายุ

คนท้องกินใบกัญชาได้ไหม

          ปัจจุบันมีรายงานว่า หญิงตั้งครรภ์ใช้กัญชาเพื่อลดอาการแพ้ท้อง โรควิตกกังวล และความเครียด ซึ่งบางคนเข้าใจผิดว่ากัญชาไม่เป็นอันตรายเพราะมาจากพืช แต่ที่จริงแล้วการใช้กัญชาในขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกได้ เนื่องจากสารเคมีในกัญชา โดยเฉพาะ THC ที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา สามารถผ่านจากรกไปยังลูกในครรภ์ได้
 

          อีกทั้งมีการศึกษาพบว่ากัญชาทำให้ระดับฮอร์โมน Luteinizing Hormone (LH) จากต่อมใต้สมองลดลง ซึ่งทำให้ไม่เกิดการตกไข่ แต่กลับมาตกไข่ได้หลังจากผ่านไป 3-4 เดือน แต่ก็มีการศึกษาในหนูทดลองพบว่า การได้รับกัญชามาก ๆ จะสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ซ้ำของไข่เข้าสู่มดลูก ซึ่งอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือการฝังตัวของตัวอ่อนล้มเหลว

กัญชา

ผลกระทบต่อทารกในครรภ์

  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • การตายคลอด (เด็กคลอดออกมาแล้วไม่มีสัญญาณชีวิต)
  • เพิ่มอัตราเสี่ยงของเด็กต่อการเข้ารับรักษาในหน่วยวิกฤตทารกแรกเกิด
  • ภาวะทารกน้ำหนักน้อย
  • บางรายงานพบว่าการใช้กัญชาร่วมกับการสูบบุหรี่มีผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
  • การพัฒนาสมองของทารกไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้มีปัญหาการเรียนรู้และพฤติกรรมในอนาคต
  • เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • กระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

ผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

  • คุณแม่อาจมีอาการเวียนหัว เสี่ยงต่อการลื่นล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ
  • ระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง เสี่ยงต่อปัญหาการหายใจ
  • ภาวะความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์


          แม้ว่าจะต้องมีการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของกัญชากับการตั้งครรภ์ แต่แพทย์ก็แนะนำว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และสตรีวัยเจริญพันธุ์ ไม่ควรใช้กัญชาในทุกกรณี แม้จะเป็นแบบรักษาก็ตาม เนื่องจากอาจเกิดความเสี่ยงร้ายแรงข้างต้น ดังนั้นถึงคุณแม่จะสนใจการกินกัญชาแค่ไหน แต่เมื่อกำลังมีอีกหนึ่งชีวิตน้อย ๆ แบบนี้ก็ควรพักก่อนดีกว่าค่ะ

คนท้องกับการสูบกัญชา

          ควันกัญชาก็เป็นอีกหนึ่งอันตรายที่แม่ท้องไม่ควรเข้าใกล้ เพราะสารพิษในควันจะเข้าไปทำลายปอดและส่งผลกระทบต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ โดยการสูบกัญชาขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือด แต่ลดปริมาณออกซิเจนที่ทารกกำลังพัฒนาจะได้รับ ซึ่งส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของทารก ไม่ใช่แค่นั้น การหายใจสูดรับควันกัญชาหรือสูบกัญชามือสองก็อาจมีอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้เช่นกัน

แม่ให้นม กินกัญชาได้ไหม

          สำหรับคำถามนี้ ตอบได้เลยว่าไม่ควรกิน นั่นก็เพราะว่าเมื่อคุณกินหรือใช้กัญชา สารออกฤทธิ์ที่ชื่อว่า THC จะไหลเวียนผ่านกระแสเลือดและส่งผ่านนมแม่ไปถึงลูกได้ ซึ่งสาร THC จะถูกเก็บไว้ในไขมันและค่อย ๆ ปล่อยออกมา นั่นหมายความว่า THC ในกัญชามีความเข้มข้นมากพอในน้ำนมแม่ซึ่งมีไขมันมาก สามารถอยู่ได้นานถึง 6 วันเลยทีเดียว ดังนั้นถึงคุณแม่จะหยุดใช้กัญชาแล้ว แต่ลูกก็ยังได้รับสารจากกัญชาอยู่ ซึ่ง THC จะจับกับตัวรับโปรตีนจำนวนมากในสมอง จึงอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกนั่นเอง
 

          นอกจากนี้ยังมีการสำรวจมารดาเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกน้อย พบว่าทารกที่สัมผัสกัญชาผ่านทางน้ำนมแม่จะเหนื่อยล้าง่ายและมีทักษะการดูดนมต่ำกว่าเพื่อน การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าการใช้กัญชาอาจมีผลในระยะยาว โดยทารกที่สัมผัส THC ในน้ำนมแม่มีคะแนนการทดสอบการใช้กล้ามเนื้อแย่กว่า ซึ่งประเมินจากการเคลื่อนไหวและการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของทารกเมื่ออายุ 1 ขวบ
 

          ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่ากัญชาสามารถชะลอการผลิตน้ำนมได้ เพราะฉะนั้นหากคุณเพิ่งเริ่มให้นมลูกและต้องการสต็อกน้ำนมอย่างเพียงพอ ก็เป็นอีกเหตุผลที่ควรหลีกเลี่ยงกัญชา

กัญชา

ข้อแนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์กับการใช้กัญชา

          แน่นอนว่าผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้กัญชาในสตรีตั้งครรภ์ยังคงมีความไม่ชัดเจน และงานวิจัยที่มารองรับก็ยังมีปริมาณน้อย แต่อย่างไรก็ตาม ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มีคำแนะนำถึงบุคลากรทางการแพทย์ให้คัดกรองและอธิบายเกี่ยวกับการใช้กัญชาต่อกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ ดังนี้
 

  • ก่อนตั้งครรภ์หรือช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ควรสอบถามสตรีตั้งครรภ์ทุกคนถึงการใช้กัญชา, บุหรี่, สุรา รวมถึงยาอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ในทางการรักษาด้วย
  • หากพบว่ามีการใช้กัญชา ควรแนะนำว่าจะส่งผลเสียต่อทารกและการตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง
  • หากเป็นผู้ที่พยายามจะตั้งครรภ์ ให้หยุดการใช้กัญชาและสารเหล่านี้ก่อน
  • หากเคยใช้กัญชาในฐานะเป็นยาตามความเข้าใจเดิม ให้งดใช้กัญชาแล้วเลือกใช้ยาตัวอื่นแทนก่อน
  • มีข้อมูลน้อยเกี่ยวกับกัญชาในน้ำนมแม่ อย่างไรก็ตาม ให้งดการใช้กัญชาไปก่อนน่าจะส่งผลดีต่อเด็กมากกว่า


          กัญชามีทั้งคุณและโทษ แต่เพื่อความปลอดภัยสำหรับลูกและตัวคุณแม่ ควรอยู่ห่างจากกัญชาทั้งในขณะตั้งครรภ์ ให้นมลูก และโดยทั่วไปเมื่อมีลูกน้อยอยู่ในบ้านนะคะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : cdc.govchulalongkornhospital.go.thราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยpr.moph.go.thfda.moph.go.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า