เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย

เมืองโบราณศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อเตรียมประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ .

ความสำคัญของนครโบราณแห่งนี้ คือเป็นหลักฐานของนครที่เป็นจุดเชื่อมโยงบนเส้นทางการค้าระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรากฏร่องรอยของพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในสามสมัย คือตั้งแต่ชุมชมยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย พัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองในสมัยทวารวดี แล้วถูกวัฒนธรรมขอมแผ่ขยายเข้ามามีอิทธิพลในตอนปลาย ก่อนจะหมดความสำคัญกลายเป็นเมืองร้างไป สรุปช่วงเวลาความรุ่งเรืองของเมืองศรีเทพอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8-18 .

ในยุคชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 1,700 ปีก่อน บริเวณเมืองโบราณศรีเทพมีลักษณะทางสังคมแบบหมู่บ้านเกษตรกรรม อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มีหัวหน้าหมู่บ้าน รู้จักการควบคุมและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกพืชข้าวเป็นหลัก ผสมผสานกับการล่าสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ รู้จักใช้เครื่องมือเหล็ก ทอผ้า ปั้นภาชนะดินเผา และการถลุงโลหะในระดับชุมชน .

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตายและโลกหน้า มีพิธีกรรมการฝังศพมนุษย์ร่วมกับสิ่งของเครื่องใช้และสัตว์เลี้ยง มีการติดต่อค้าขายในระหว่างภูมิภาค ระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับชุมชนภายนอก โดยเฉพาะอินเดีย ส่งผลให้ระยะเวลาต่อมาชุมชนบริเวณเมืองโบราณศรีเทพเป็นกลุ่มแรก ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับอิทธิพลจากการขยายวัฒนธรรมของอินเดียเกิดเป็นบ้านเมืองขึ้น.

ยุคบ้านเมืองในสมัยประวัติศาสตร์ (พุทธศตวรรษที่ 11-16) ศรีเทพเติบโตขึ้นเป็นบ้านเมืองด้วยทำเลที่อยู่ในเส้นทางเครือข่ายทางการค้า เป็นศูนย์กลางการติดต่อของภูมิภาคตอนในที่เชื่อมโยงชุมชนและเมืองโบราณต่าง ๆ ในวัฒนธรรมทวารวดี ในฐานะผู้รวบรวมผลผลิตสินค้าอันเป็นที่ต้องการจากชุมชนภายใน ส่งผ่านให้กับเมืองโบราณร่วมสมัยอื่นที่มีทางออกทะเลได้สะดวก เช่น เมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี เมืองโบราณโคกไม้เดน (เมืองบน) จังหวัดนครสวรรค์.สถาปัตยกรรมที่เป็นศาสนสถานอิฐและศิลาแลงขนาดใหญ่ทั้งในเมืองและนอกเมืองโบราณศรีเทพ ยังแสดงถึงรูปแบบรายละเอียดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น โบราณสถานเขาคลังนอก มหาเจดีย์ที่มีฐานก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โบราณสถานเขาคลังใน พุทธสถานสาคัญในเขตเมืองในของเมืองโบราณศรีเทพ ส่วนฐานมีการประดับด้วยประติมากรรม ปูนปั้นรูปคนแคระที่มีลักษณะโดดเด่น.ประติมากรรมรูปเคารพจากเมืองโบราณศรีเทพยังมีความโดดเด่นแตกต่างจากประติมากรรมอื่นที่ร่วมสมัยทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะประติมากรรมพระสุริยเทพที่พบมากที่สุดในประเทศไทยคือ 7 องค์ ประติมากรรมสกุลช่างศรีเทพเกิดขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 และสิ้นสุดราวต้นพุทธศตวรรษที่ 14 อาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย และศิลปะเขมร ถือเป็นรูปประติมากรรมที่บรรลุถึงขั้นสุดยอดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.ราว 700 ปี ที่เมืองโบราณศรีเทพเจริญรุ่งเรือง ค่อย ๆ ลดความสำคัญลงไปเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ในห้วงเวลาเดียวกับการล่มสลายของอาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่ พร้อมกับการเกิดศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองใหม่ขึ้นทางตอนเหนือที่สุโขทัย และในตอนกลางที่พระนครศรีอยุธยา .

ความรุ่งเรืองของเมืองศรีเทพในฐานะเมืองบนเส้นทางการค้าที่ต่อเนื่องมายาวนานหลายศตวรรษต้องยุติลงอย่างถาวร ถูกปล่อยทิ้งเป็นเมืองร้างจมหายในผืนป่าอันหนาทึบเนิ่นนานหลายศตวรรษ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงสืบค้นหาเมืองแห่งนี้อย่างจริงจัง จนกระทั่งพบอีกครั้งในปี พ.ศ. 2448 เนื่องจากการเป็นเมืองที่ถูกทิ้งร้างไป ไม่มีชุมชนในยุคคสมัยหลังมาตั้งซ้อนทับ โบราณสถานที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันจึงไม่ได้ถูกทำลายโดยเมืองสมัยหลังเหมือนที่อื่น.

ยิ่งไปกว่านั้น หลักฐานทางด้านศิลปกรรมที่พบจากเมืองโบราณศรีเทพแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นในด้านภูมิปัญญา การสร้างสรรค์ และผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมหลากหลายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปกรรมแบบศรีเทพที่เรียกว่า “สกุลช่างศรีเทพ” ปรากฏอยู่ทั้งในสถาปัตยกรรมและประติมากรรม.

กรมศิลปากรได้ใช้เวลาในการขุดแต่งบูรณะและศึกษาเป็นช่วงเวลายาวนานหลายสิบปี ก่อนจะนำข้อมูลเสนอให้กับองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก พิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และในที่สุดประเทศไทยเราก็จะได้มีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ในชื่อ “เมืองโบราณศรีเทพ” โดยจะได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2566 ที่จะถึงนี้ พิกัด https://goo.gl/maps/kYp8xNkpv5BX81a67

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า